ยุคเปลี่ยนผ่าน สู่การเป็น “กบต้ม”
เราคงไม่มีความจำเป็นต้องมานั่งคุยกันเรื่องการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ หากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยชัดเจนขึ้นตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี พศ. 2540) เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน เนื่องจากยุคสมัยก่อนหน้านั้น การเรียนจบมาในระบบการศึกษาแล้วหารายได้จากการทำงานประจำ สำหรับคนที่มีวินัยเก็บออมเงินเพื่อฝากธนาคารเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากที่ประมาณ 12% หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “ฝากกินดอก” ก็เพียงพอที่จะสร้างผลตอบแทนจากดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สามารถที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ดำรงชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมั่นคง
สภาวะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ค่อยๆลดลงอย่างช้าๆ จนกระทั่งเหลือเพียงไม่ถึง 1% โดยประมาณในปัจจุบัน ทำให้วิธีการทำงาน เก็บเงิน แล้วนำไปฝาก เพื่อ "กินดอก" ไม่เพียงพอต่อการสร้างผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเพื่อใช้ดำรงชีวิตหลังเกษียณอีกต่อไป ถึงแม้การฝากธนาคารจะไม่มีการสูญเสียเงินต้น แต่สิ่งที่กัดกร่อนมูลค่าของเงินฝากที่นอนนิ่งอยู่ในธนาคารนั่นคือ “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่ทำให้อำนาจการใช้จ่ายของเงินที่มีอยู่ลดลงทุกปีโดยเฉลี่ยที่ผ่านมาราวปีละ 3% ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ ผลตอบแทนเงินฝาก(1%) พ่ายแพ้อำนาจเงินเฟ้อ(3%) อย่างเป็นเอกฉันท์ และถ้าหากมองกลางๆก็เปรียบเสมือนเงินเก็บในปัจจุบันของเราด้อยค่าลงไปทุกปีๆ
หากเรายังคงชะล่าใจ ปล่อยให้สถานการณ์การพึ่งพาดอกเบี้ยเงินฝากดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผ่านมา แน่นอนว่าวันหนึ่งเราจะตกอยู่ในสภาวะ “กบต้ม” (กบที่โดนต้มในหม้อจะค่อยๆถูกเพิ่มความแรงของไฟอย่างช้าๆ และไม่รู้สึกร้อนมาก จนกระทั่งสุกตายในที่สุด) นั่นคือการเดินเกมทางการเงินที่ผิดพลาดเเละสถานะทางการเงินที่อาจจะไม่เป็นดั่งตั้งใจในวัยเกษียณก็เป็นได้
การมองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถทำให้เราสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนที่เราอยู่ในยุคที่เรายังพึ่งพาดอกเบี้ยเงินฝากได้ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างแรกในการเดินเกมส์ทางการเงินของตัวเราและครอบครัว โดยที่สมการเดิมคือ ทำงาน + เก็บเงิน + ฝากกินดอก = เกษียณสุข ได้กลายมาเป็น ทำงาน + เก็บเงิน + (...) = เกษียณสุข ช่องว่างในวงเล็บคือคำตอบที่ผู้คนในยุคสมัยนี้ต้องค้นหาให้เจอ โดย โจทย์ของเราคือต้องหาตัวตายตัวแทนที่จะมาแทนที่การ ฝากกินดอก และผลตอบแทนที่ได้รับอย่างน้อยควรจะมากกว่าหรือเท่ากับยุคสมัยที่เรายังพึ่งพาดอกเบี้ยเงินฝากได้
แล้วสิ่งที่มาเติมเต็มช่องว่างคืออะไร ....
คำตอบคือ "การลงทุน"
ในช่วงระยะสิบกว่าปีให้หลังมานี้ การสนับสนุนส่งเสริมความรู้ทางด้านการเงินให้กับประชาชนคนไทยมีการตื่นตัวมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่างๆ เริ่มมีการแสดงตัวออกมาจากที่เคยหลบอยู่ในมุมมืด หนังสือทางด้านการจัดการการเงิน การลงทุน เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นๆ คนทั่วไปเริ่มมีการเเสวงหาการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ , พันธบัตร , หุ้น , ทองคำ, กองทุนรวม เป็นต้น
"การลงทุนในหุ้นระยะยาว" คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ และเป็นคำตอบที่พอสมน้ำสมเนื้อที่จะเอาไปแทนที่ในสมการ “ฝากกินดอก” ได้ อย่างน้อยสิ่งแรกที่พอจะการันตีผลงานของการลงทุนในหุ้นระยะยาวได้นั่นก็คือ ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ประมาณ 12% ต่อปี นับตั่งแต่ก่อตั้งตลาดทุนแห่งนึ้ขึ้นมาในวันที่ 30 เมษายน พศ. 2518 ซึ่งมันเพียงพอที่จะทำให้เราไม่ละทิ้งคำตอบที่น่าค้นหานี้ เพื่อนำไปวางในสมการของเราให้สมบูรณ์
ดาบสองคม
แต่กระนั้น ใช่ว่าทุกอย่างจะหอมหวานและง่ายดาย เนื่องเพราะในโลกของการลงทุนในหุ้นนั้น โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เป็นที่น่าพอใจ มีไม่น้อยไปกว่าโอกาสที่จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะคุณสมบัติหนึ่งที่หุ้นไม่เหมือนกับการฝากกินดอก นั่นคือหุ้นมันไม่มีการการันตีผลตอบแทน (จะกำไรหรือขาดทุนมากน้อยเท่าไหร่ก็ได้) และไม่มีการปกป้องเงินต้น เหมือนการฝากเงินไว้กับธนาคาร แต่ความจริงข้อหนึ่งที่ทำให้หุ้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนนั่นคือ แม้ว่ามันสามารถทำให้เราขาดทุนได้มากถึง 100% (สูญเสียเงินต้นทั้งหมด) แต่ขณะเดียวกันในฝั่งของกำไรมันสามารถที่จะทำกำไรได้โดยไม่มีขีดจำกัดตั้งแต่ 1% ขึ้นไปจนถึง ร้อย หรือ พัน% และหากทำได้ การเติมเต็มคำตอบตรงดอกเบี้ยเงินฝากที่หายไปก็จะถูกแทนที่ด้วย “ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้น” ไปโดยปริยาย
การลงทุนคือการเดินทาง
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่เราเคยได้ยินหรือพบเจอ เช่น เบนจามิน เกรแฮม , ฟิลิป ฟิชเชอร์ , วอเร็นต์ บัฟเฟตต์, จอห์น เนฟฟ์ , ปีเตอร์ ลินซ์ หรือ เมืองไทยก็อย่างเช่น ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร , พี่โจ ลูกอีสาน และอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ไม่มีท่านใดเลยที่เข้ามาสู่โลกการลงทุนแบบเล่นๆขำๆ หรือหวังผลกำไรแบบฉาบฉวย เขาเหล่านั้นก้าวเข้ามาลงทุนในหุ้นด้วยความเอาจริง จริงจัง และใช้ชีวิตอยู่กับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน เรียกได้ว่า “ลงทุนทั้งชีวิต” ก็ไม่ผิดนัก
การลงทุนในหุ้นระยะยาวนั้น เปรียบเสมือนการเดินทางทั้งชีวิต ประสบการณ์ การเรียนรู้ ความผิดพลาด บาดเจ็บ เสียหาย สมหวัง ย่อมเกิดขึ้นตลอดเส้นทางที่ดำเนินไป สิ่งที่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดทั้งหมด ก่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสียหายและสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับนักลงทุนแต่ละคน และนั่นคือ “ทักษะในการลงทุน” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลงทุน ว่ากันว่า กำไรจากการลงทุนนั้นไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนต้องการ ความจริงแล้วสิ่งที่เขาต้องการคือสมาธิและการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาดมากกว่า และการที่จะทำสิ่งนี้ได้นั่นคือ นักลงทุนต้องมีทักษะ ตรรกะ วิธีคิดที่ถูกต้อง รู้ว่าวิธีการไหนใช้ได้ หรือไม่ได้ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในตลาดทุน
ทักษะสร้างได้
เรามีเป้าหมายหลักในการ สร้าง “ทักษะในการลงทุน” ให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่จำกัด ให้กับนักลงทุนที่มุ่งมั่น เอาจริง จุดประสงค์ก็เพื่อลดระยะเวลาที่ต้องไปล้มลุกคลุกคลาน หาประสบการณ์ในตลาดหุ้นด้วยตัวเองเพียงลำพัง กว่าจะรู้ตัวว่าวิธีการที่เลือกใช้ไปนั้นมันผิด ก็เกิดความเสียหาย ขาดทุน สูญเสียเงินต้น ไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ แม้ปลายทางจะประสบความสำเร็จ แต่ต้นทุนก้อนใหญ่ที่ต้องสูญเสียไปและไม่มีโอกาสเรียกคืนมาได้นั่นคือ “เวลา” ที่หายไป กับสิ่งที่ไม่จำเป็นอันเกิดมาจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และการสูญเสียเวลาในเรื่องเหล่านี้ เราถือว่าไม่สามารถประเมินมูลค่าออกมาเป็นตัวเงินได้
เราเชื่อว่าความรู้ วิธีการ รวมทั้งทักษะในการลงทุนในหุ้นสามัญนั้น ทุกคนสามารถสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง และเราเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นระยะยาวเท่านั้นที่จะสร้างความมั่นคง ความสบายใจ เป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน สามารถส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ ดังนั้นเราจึงมีภารกิจเดียวคือ ถ่ายทอด ช่วยเหลือ สนับสนุน ความรู้ วิธีการ เพื่อสร้างทักษะการคัดเลือกหุ้น และทักษะการบริหารจัดการพอร์ตลงทุน สำหรับการลงทุนระยะยาว 5 ปีขึ้นไปเท่านั้น
หุ้นคือปลายทาง วินัยทางการเงินคือของจริง
และถึงแม้เราจะยืนยันว่า ทักษะในการลงทุนในหุ้นระยะยาว เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้เเละเป็นรากฐานสำคัญของการเป็นนักลงทุนระยะยาว นั่นคือวินัยทางการเงิน การใช้จ่ายที่ไม่เกินตัว ความประหยัด อดออม และพอเพียง ทั้งหมดนี้เป็นเสาเข็มหลักที่จะทำให้ การเดินทางสู่เป้าหมายมีความเป็นไปได้ชัดเจนมากขึ้น โดยมีทักษะการลงทุนในหุ้นเป็นเชื้อเพลิงหลักในการขับเคลื่อน
การเดินทางก้าวแรกของคุณเริ่มต้นหรือยัง
ด้วยความจริงใจและปรารถนาดี
หุ้นพื้นฐาน